“การเล่นหุ้น” คือ?


หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากเล่นหุ้น แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี วันนี้ เรามีคำแนะนำเบื้องต้นมาฝากกันครับ

มาทำความรู้จัก “การเล่นหุ้น” กันก่อน
การเล่นหุ้น หรือการลงทุนในหุ้น คือ การซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในการซื้อขายหุ้นนั้นมีอยู่ด้วยกันสองตลาด คือ ตลาดแรก และตลาดรอง การซื้อขายในตลาดแรก หรือการซื้อขายหุ้น IPO (Initial Public Offering) เกิดจากการที่บริษัทต้องการระดมทุนจากนักลงทุนเพื่อขยายกิจการ โดยราคาหุ้นจะถูกกำหนดไว้ให้นักลงทุนมาจับจอง ในการซื้อหุ้น IPO นั้นจะต้องจองซื้อผ่านผู้จัดจำหน่ายเท่านั้น เช่น บริษัทหลักทรัพย์ หรือตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์แต่งตั้ง ส่วนการซื้อขายหุ้นหลังจากนั้น จะเป็นการซื้อขายหุ้นในตลาดรอง ซึ่งเป็นการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ นั่นเอง ราคาของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะเปลี่ยนแปลงตามผลการดำเนินการของบริษัท และสภาวะตลาดตามหลักของ demand supply ครับ

ผลตอบแทน
ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นนั้น โดยหลัก ๆ แล้ว มี 2 ประการ อันดับแรก คือ Capital Gainหรือกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นที่เราซื้อมากับราคาที่เราขายไป ส่วนที่สอง คือ เงินปันผล (Dividend) หรือเงินส่วนแบ่งผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปีที่นำมาจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้น

เล่นหุ้นมีความเสี่ยง
ความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นอาจมองได้เป็น 2 ส่วนเช่นกัน คือ ความเสี่ยงจากปัจจัยภายใน และความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ความเสี่ยงจากปัจจัยภายใน เกิดจากตัวบริษัทเอง เช่น การดำเนินการของบริษัท หรือคณะผู้บริหาร ส่วนความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกมีได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม อัตราแลกเปลี่ยนเงินกรณีเป็นบริษัทที่มีธุรกรรมกับต่างประเทศ หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อธุรกิจ เช่น น้ำท่วม พายุ ความกดดันทางการเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อราคาหุ้น

นักลงทุนมีหลายประเภท
ด้วยปัจจัยความเสี่ยงที่กล่าวมานี้ ทำให้นักลงทุนต้องมีการคัดสรรหาหุ้นที่ดี โดยแนวทางในการเลือกหุ้นนั้นมีอยู่หลายกลุ่ม เช่น นักลงทุนสาย Fundamentals คือ กลุ่มที่เลือกซื้อหุ้นโดยพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน ผลการดำเนินงานบริษัท ให้ความสำคัญกับการอ่านงบกำไรขาดทุน งบดุล และงบกระแสเงินสด รอจังหวะเข้าซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาที่เหมาะสม แล้วรอขายเมื่อราคาสูงเกินกว่าความเป็นจริง โดยระหว่างทางก็เก็บเงินปันผลไปเรื่อย ๆ ส่วนนักลงทุนสายTechnical Analysis จะเน้นดูกราฟราคาย้อนหลัง ร่วมกับเครื่องมือในการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์เพื่อหาสัญญานในการเข้าซื้อ และจุดขายทำกำไร ส่วนเราจะเป็นนักลงทุนสายไหนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การลงทุน และนิสัยส่วนบุคคลครับ


เปิดบัญชีหุ้น
ในการเทรดหุ้น หรือซื้อขายหุ้นนั้น เราต้องเปิดบัญชีหุ้นกับโบรกเกอร์ หรือที่เรียกกันว่า เปิดพอร์ต นั่นเอง โบรกเกอร์ คือ บริษัทหลักทรัพย์ที่ทำหน้าที่รับคำสั่งซื้อขายหุ้นจากผู้ลงทุน แล้วส่งไปเข้าระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้จับคู่คำสั่งซื้อขายโดยอัตโนมัติ ชำระเงินค่าซื้อหุ้น และนำหุ้นเข้าบัญชีของผู้ลงทุน โดยบัญชีหุ้นนั้น มีสามประเภท คือ
1

บัญชีวางเงินล่วงหน้า หรือ Cash Balance บัญชีนี้เป็นแบบตรงไปตรงมา มีเงินในบัญชีเท่าไหร่ เราก็สามารถซื้อหุ้นได้จำนวนเท่านั้น โบรกเกอร์จะหักเงินจากบัญชีในวันที่ 3 หลังจากวันที่คำสั่งซื้อได้รับการยืนยันโดยไม่นับวันหยุด (T+3) เช่นเดียวกันกับการขาย บริษัทจะโอนเงินเข้าบัญชีด้วยระยะเวลา T+3 เช่นกันครับ ยกตัวอย่างเช่น เราสั่งซื้อหุ้น A ในวันศุกร์ เงินค่าซื้อหุ้นจะถูกตัดออกจากบัญชีในวันพุธในสัปดาห์ถัดไปครับ
2

บัญชีเงินสด หรือ Cash Account ในวันที่ส่งคำสั่งซื้อ เราต้องมีเงินหรือหุ้นในบัญชีเป็นมูลค่า 20% ของหุ้นที่ต้องการจะซื้อ ซึ่งต่างกับ Cash balance ที่ต้องมีเงินสดเท่ากับมูลค่าที่ต้องการซื้อ โดยนักลงทุนต้องโอนเงินซื้อภายใน 3 วันหลังจากคำสั่งซื้อได้รับการยืนยัน ส่วนในกรณีการขาย นักลงทุนจะได้รับเงิน T+3 เช่นเดียวกับ Cash balance ครับ
3

บัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ Credit Balance Account หรือบัญชีมาร์จิ้น เป็นบัญชีสำหรับผู้ที่ต้องการมีอำนาจซื้อหุ้นมากกว่าเงินที่ตัวเองมีอยู่ โดยใช้เงินหรือหลักทรัพย์ของตัวเองส่วนหนึ่งมาวางเป็นหลักประกัน โดยนักลงทุนต้องเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินส่วนที่กู้ยืมด้วยนะครับ

เนื่องจาก บัญชี credit balance นั้นมีรายละเอียดและกฎระเบียบเกี่ยวกับการวางเงินหลักประกันที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มอีกมาก ดังนั้น เพื่อนนักลงทุนมือใหม่ แนะนำให้เปิดบัญชี Cash Balance หรือ Cash Account ก่อนครับ ส่วนรายละเอียดของบัญชีข้างต้นอาจมีข้อแตกต่างกันในแต่ละโบรกเกอร์ เราควรตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่อีกครั้งครับ นอกจากนี้เพื่อความสะดวกในการซื้อขายหุ้น รวมถึงการรับเงินบัญชี เราสามารถผูกบัญชีหุ้นเข้ากับบัญชีธนาคาร เพื่อให้โบรกเกอร์หักเงินออก (กรณีซื้อหุ้น) หรือโอนเงินเข้า (กรณีขายหุ้น และการรับเงินปันผล) บัญชีธนาคารของเราได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการโอน หรือที่เรียกว่า ระบบบัญชี ATS – Automatic Transfer System 

ซื้อขายหุ้นออนไลน์
เมื่อเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแล้ว โบรกเกอร์จะแนะนำให้เปิดใช้บริการทาง internet เพื่อใช้ซื้อขายหุ้นได้ด้วยตัวเอง บางโบรกเกอร์อาจจะมีโปรแกรมเป็นของตัวเอง หรือหลายโบรกเกอร์จะให้ account เพื่อเข้าใช้โปรแกรม StreamingPro หรือ eFinance ซึ่งโดยทั่วไปโปรแกรมเหล่านี้จะมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับหุ้น เช่น ข่าว ราคาหุ้นแบบ real time กราฟ เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิค ข้อมูลพื้นฐานบริษัทจดทะเบียน เช่น งบการเงิน ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัท บ้างมีบทวิเคราะห์จากทางหลักทรัพย์ โดยทั้งหมดนี้เพื่อให้ข้อมูลแก่นักลงทุนในการตัดสินใจคัดกรองหุ้น เพื่อซื้อเข้าพอร์ตนั่นเองครับ

ซื้อขายผ่านนายหน้า
นอกเหนือจากการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยตัวเองผ่านทาง internet แล้ว เรายังสามารถซื้อขายผ่านMarketing หรือนายหน้าของโบรกเกอร์ได้เช่นกัน ข้อดีของการติดต่อ Marketing คือ Marketing มักจะมีข้อมูลหุ้นมาคอยให้คำแนะนำ รวมถึงโอกาสผิดพลาดในการคีย์ข้อมูลจะน้อยกว่า แต่การซื้อขายผ่าน Marketing นั้นจะมีค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่สูงกว่าค่าธรรมเนียมของการเทรดผ่าน internet ด้วยตัวเอง ค่าคอมมิชชัน หรือค่าธรรมเนียมการซื้อขายนั้น มีราคาที่แตกต่างกันในแต่ละโบรกเกอร์ นี่คือหนึ่งในข้อควรพิจารณาการเลือกโบรกเกอร์ ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความน่าเชื่อถือและได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) การให้บริการ ความเสถียรของระบบซื้อขาย และการให้ข้อมูลวิเคราะห์ครับ

เมื่อบัญชี และเครื่องมือพร้อมแล้ว อย่าลืม เตรียมตัวให้พร้อมโดยการเพิ่มเติมความรู้สำหรับการลงทุนอยู่เสมอ เพราะความรู้จะทำให้มือใหม่ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ

ที่มา :  Krungsri Guru