ส่วนประกอบของ พอร์ต



ในส่วนของสถานะพอร์ตนั้น จะมีส่วนประกอบและศัพท์ต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกัน จำเป็นที่จะต้องทำความรู้จักกับรายละเอียดดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ในการหาความรู้เรื่องต่างๆต่อไป ซึ่งอาจจะมีคำศัพท์พวกนี้แฝงอยู่ในบทความดังกล่าว
ส่วนประกอบของสถานะพอร์ตมีส่วนสำคัญๆ ดังต่อไปนี้
1. Balance                7. Profit/Loss
2. Equity                  8. Leverage
3. Profit                   9. Margin
4. Deposit               10. Free Margin
5. Withdraw             11. Margin Level
6. Credit                 12. Order
    ซึ่งส่วนประกอบของสถานะพอร์ตทั้งหมด 12 รายการข้างต้นนี้ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญๆ สำหรับการเทรดมาก หรือเป็นใบเบิกทางของการค้นหาความรู้ในส่วนต่างๆ ของตลาดการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างฟอเร็กซ์นี้ก็ว่าได้  

    Balance  คือจำนวนเงินที่มีอยู่ของพอร์ตลงทุนในปัจจุบัน ซึ่ง Balance นั้นจะเป็นจำนวนเงินที่ถูกใช้ในการเข้าทำกำไรในตลาดฟอเร็กซ์ หากได้กำไรนั้น ก็จะถูกรวมเข้ากับเงิน Balance แต่ถ้าหากขาดทุน เงิน Balance ที่เรามีนั้นก็จะถูกหักออกไป หรือเงิน Balance ของเราก็จะถูกลดลงนั่นเอง 
ซึ่งจุดสังเกตของจำนวน Balance ในพอร์ตลงทุนนั้นจะอยู่ในโซน Terminal โดยมีภาพตัวอย่างดังต่อไปนี้

อธิบายจากภาพ : จากสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีแดงนั้นแสดงให้เห็นถึงจำนวนเงิน Balance ในสถานะของพอร์ตที่เป็นพอร์ตว่าง ซึ่งค่า Balance, Equity และ Free Margin นั้นจะมีจำนวนที่เท่ากัน แต่ถ้าหากพอร์ตนั้นมีออเดอร์หรือมีรายการเทรดอยู่นั้น สถานะของ Equity และ Free Margin จะถูกเปลี่ยนไป หมายความว่า Balance ที่แท้จริงนั้นจะถูกคิดจากพอร์ตที่ไม่มีการทำรายกันใดๆ อยู่เลย
หมายเหตุ : บัญชีเทรดบางประเภทที่เลือกรับโบนัสจากทางโบรกเกอร์นั้น อาจจะถูกนำเข้าไปรวมกับเงินต้นที่เราลงทุนในตอนแรก ซึ่ง Balance ในที่นี้จะมีทั้ง จำนวนเงินลงทุนจริงกับเงินที่เป็นโบนัสรวมอยู่ด้วยกัน อยากให้พยายามแยกแยะระหว่างเงินลงทุนของเรากับโบนัสที่จะรวมเป็น Balance เพื่อป้องกันความสับสนของตัวนักเทรดเอง ซึ่งนั้นก็คือเงิน Balance ไม่ใช่เงินลงทุนทั้งหมด แต่ Balance จะเป็นเงินที่มีอยู่ในพอร์ตเพื่อสำหรับการเทรดเท่านั้น

    Equity  คือจำนวนเงินที่มีอยู่ของพอร์ตลงทุนในปัจจุบันกับผลรวมของรายการเทรดที่ยังมีสัญญาอยู่ หรืออาจจะเรียกว่า Available Margin ก็ได้  
 Equity นั้นจะเริ่มมีความเคลื่อนไหวตอนที่พอร์ตมีรายการเทรดอยู่ตั้งแต่ 1 รายการขึ้นไป โดยที่ Equity นั้นจะถูกคิดจากเงิน Balance + Profit (รายการเทรดที่ยังมีสัญญาอยู่) ซึ่งค่าของ Equity จะเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ และไม่คงที่จนกว่าสัญญาในรายการเทรดของเราทั้งหมดถูกปิดลง ยกตัวอย่างจากภาพต่อไปนี้

อธิบายจากภาพ : จะเห็นว่าค่า Equity นั้นน้อยกว่าจำนวน Balance ซึ่งมีผลมาจากรายการสัญญาเทรดของเรานั้นยังคงติดลบอยู่ 60 จึงส่งผลให้ค่า Equity ขณะนั้น มีอยู่ 940 หากทำการปิดรายการเทรดนี้นั้น Balance, Equity และ Free Margin ก็จะมีค่าเท่ากันคือ 940 หน่วยค่าเงินนั่นเอง 

    Profit  คือค่าความเคลื่อนไหวของรายการเทรดที่มีอยู่ทั้งหมดในสัญญา ซึ่ง Profit สามารถแสดงผลออกมาเป็นทั้งจำนวนเงินที่เป็นบวกหรือเป็นลบได้ทั้งสองแบบ และสามารถเลือกให้แสดงผลออกมาเป็นระยะทางที่ยังมีรายการซื้อขายอยู่ทั้งหมด (as Points) หรือให้แสดงผลออกมาเป็นจำนวนเงินที่มีรายการซื้อขายอยู่ทั้งหมด (as Currency) ซึ่งขึ้นอยู่กับการตั้งค่าการมอง Profit ของแต่ละบุคลลนั้นๆ แต่ผลรวมของ Profit ที่แท้จริงจะถูกคำนวนเป็นจำนวนเงินที่เราติดลบหรื 

การตั้งค่าการแสดงผล Profit เป็น as Currency

อธิบายจากภาพ : เป็นการเลือกแสดงผลค่า Profit เป็นจำนวนเงิน โดยทำการคลิกขวาบนพื้นที่ Terminal ในหมวดหมู่ของ Trade แล้วเลือก as Deposit Currency หรือ as Term Currency ก็ได้ โดยพอร์ตของเรามีอยู่ 2รายการเทรดคือ -58 กับ +191.00 ซึ่งผลรวมแล้วสถานการณ์พอร์ตลงทุนของเราในตอนนี้ +133.00 หน่วย จึงส่งผลให้ค่า Equity มีค่ามากกว่า Balance ตามจำนวน Profit 
หมายเหตุ : ความแตกต่างระหว่าง as Term Currency และ as Deposit Currency นั้น อธิบายได้ว่าเป็นการแสดงผลของ Profit ที่เป็นจำนวนผลรวมของเงินทั้งคู่ ซึ่ง as Term Currency  จะเป็นการแสดงผลของ Profit จากการแลกเปลี่ยนค่าเงินในตลาดฟอเร็กซ์ แต่ as Deposit Currency จะเป็นการแสดงผลของ Profit เป็นหน่วยเงินของพอร์ตลงทุน (ในกรณีที่พอร์ตไม่ได้ใช้สกุลเงิน USD จะมีความแตกต่างที่ชัดเจนมาก)

การตั้งค่าการแสดงผล Profit เป็น as Point

อธิบายจากภาพ : การตั้งค่าการแสดงผลของ Profit เป็น as Point นั้น จะเป็นการแสดงผลของรายการเทรดเทียบเป็นระยะทางของหน่วยวัดการเคลื่อนที่ของคู่เงินนั้นว่าบวกหรือลบไปแล้วกี่ Pip หรือกี่ Point ซึ่งจุดที่แตกต่างกันกับ as Currency นั้น คือ การที่มีจุดทศนิยมตามหลัง หมายความว่า ถ้าเลือกเป็น as Currency จะมีจุดทศนิยมต่อท้ายค่าแสดงผล แต่ถ้าเป็น as Point จะไม่มีจุดทศนิยม 
หมายเหตุ : การแสดงผลของ Profit ในที่นี้เป็นการคิดจากรายการเทรดที่ยังมีสัญญาอยู่ หากทำการปิดรายการเทรดทั้งหมดนั้น จำนวนเงินที่ได้กำไรจะถูกคิดเป็น Profit แต่ถ้าหากเป็นการขาดทุนหรือติดลบ ตัวเลขนี้จะถูกคิดเป็นรายการของ Loss ในพอร์ตลงทุนต่อไป 

    Deposit  คือการเติมเงินเข้าไปในพอร์ตลงทุน ซึ่งมักจะเห็นคำนี้ต่อจากขั้นตอนการเปิดบัญชีเทรดจาก โบรกเกอร์ที่เราใช้งาน แต่คำว่า Deposit ที่แสดงผลในโปรแกรมเทรด MT4 นั้นจะหมายถึง ผลรวมของรายการการฝากเงินลงทุนทั้งหมด (อาจจะมีการรวมกับเงินโบนัสที่ทางโบรกเกอร์ให้มาด้วย) ซึ่งในโปรแกรม MT4 นั้น Deposit จะแสดงผลอยู่ที่เมนู Terminal อยู่ในหมวดของ Account History โดยมีตัวอย่างดังภาพต่อไปนี้

อธิบายจากภาพ : ในช่องสี่เหลี่ยมนั้นจะเห็นว่ามีรายการของ Deposit อยู่ หรือก็คือมีรายการฝากเงินอยู่จำนวน 1000 หน่วย ซึ่งประโยชน์ของ Deposit นั้นสามารถนำไปใช้วิเคราะห์หาอัตราการเติบโตของพอร์ตลงทุนเอง หรือถูกใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณการแสดงผลต่างๆ มากมาย

    Withdrawal  คือการถอนเงินออกจากพอร์ตลงทุน แต่ถ้าหาก Withdrawal ที่แสดงผลในโปรแกรม MT4 นั้นจะหมายถึงผลรวมของรายการการถอนเงินออกจากพอร์ตทั้งหมด (อาจจะมีการรวมกับเงินโบนัสที่ทางโบรกเกอร์ให้มาด้วย) ซึ่งในโปรแกรม MT4 นั้น Withdraw จะแสดงผลอยู่ที่เมนู Terminal อยู่ในหมวดของ Account History โดยมีตัวอย่างดังภาพต่อไปนี้

อธิบายจากภาพ : ในช่องสี่เหลี่ยมนั้นจะมีตัวเลข -200.00 อยู่ หมายความว่าได้ทำการถอนเงินออกไปจำนวน 200.00 หน่วย โดยประโยชน์ของ Withdrawal นั้นจะเหมือนกับ Deposit คือเป็นข้อมูลในการคำนวณการแสดงผลต่างๆ ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด

    Bonus/Credit  คือเงินลงทุนเพิ่มที่ทางโบรกเกอร์ให้มา ซึ่งก็แล้วแต่ละโบรกเกอร์จะให้เงินจำนวนนี้มาในรูปแบบของ Bonus หรือ Credit สามารถอธิบายถึงความแตกต่างของทั้งสองได้ว่าเงิน Bonus จะถูกรวมเข้ากับเงินฝากในพอร์ตของเราซึ่งจะกลายเป็น Balance แต่ Credit นั้นจะแยกจำนวนเงินที่เราฝากกับเงินลงทุนที่ทางโบรกเกอร์ให้มาออกเป็นคนละกองกัน อธิบายได้ว่าจะมีเงินในการลงทุนคือ Balance และ Credit แต่ทั้ง Bonus และ Credit มีสิ่งที่เหมือนกันคือเป็นเงินที่ทางโบรกเกอร์ให้มา ซึ่งไม่สามารถถอนออกได้ แต่สามารถใช้ในการเทรดได้ ถ้าหากทำการ Withdraw หรือถอนเงินออก จำนวนเงิน Bonus และ Credit ก็จะหายไปด้วยตามสัดส่วนของเงินที่ถอนออก
    ในเชิงจิตวิทยา การเลือกรับโบนัสก็เปรียบเสมือนดาบสองคมที่มีทั้งผลดีผลเสียจากการใช้งานไม่ถูกวิธี หากมองในแง่ดีคือเราสามารถทำกำไรได้มากขึ้น เพราะว่ามีเงินลงทุนที่มากขึ้นกว่าเดิม แต่ในทางกลับกับการลงทุนที่มากขึ้นจะส่งผลเสียให้การเทรดของเรานั้นมีเพิ่มขึ้นตาม เพราะถ้าเราขาดทุนนั้นเงินที่เสียไปจะเป็นเงินจริงๆ ของพอร์ตก่อนถ้าหากเงินจริงๆของพอร์ตหมดแล้ว Bonus หรือ Credit ถึงจะใช้งานได้ 
    ข้อแนะนำ : เราควรที่จะเลือกการใช้งาน Bonus และ Credit ให้ดี ควรมีการจัดการบริหารพอร์ตลงทุนที่เป็นแบบแผนก่อน มิเช่นนั้นเราจะเทรดด้วยความเสี่ยงที่มากเกินไป จนลืมไปว่ายังมีเงินอีกส่วนที่เป็น Bonus หรือ Credit ร่วมอยู่กับพอร์ตลงทุนอยู่ที่จะส่งผลให้แผนการเทรดผิดเพี้ยนไปจากเดิม 

    Profit/Loss  คือผลของ กำไร/ขาดทุน ซึ่งคำ 2 คำนี้เป็นคำที่ใช้กันบ่อยมากๆ โดยที่ข้อมูลทั้ง 2 นั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรายการเทรดที่เป็นสัญญาซื้อนั้นถูกปิดลง แต่ถ้ารายการเทรดนั้นๆ ยังคงติดสัญญาซื้ออยู่เราจะใช้คำนั้นว่า Profit จะเป็นบวกหรือลบก็ได้ อธิบายได้ว่าถ้าสัญญาซื้อถูกปิดลงนั้น หากเราได้กำไรในครั้งนี้ก็จะเรียกว่า Profit แต่ถ้าหากขาดทุนในครั้งนี้ก็จะเรียกว่า Loss ซึ่งการแสดงผลของ Profit/Loss ในโปรแกรมเทรด MT4 นั้น จะเป็นผลรวมการแสดงผลว่าพอร์ตลงทุนว่ามีกำไรหรือขาดทุน โดยการแสดงผลของ Profit/Loss ของพอร์ตจะอยู่ที่เมนู Terminal ที่หมวด Account History มีภาพตัวอย่างดังต่อไปนี้

การแสดงผลที่เป็น Profit ของพอร์ตลงทุน

อธิบายจากภาพ : จะเห็นว่ามีจำนวน Profit รวมของพอร์ตลงทุน เป็นจำนวนเงิน 194.10 หน่วย ซึ่งรวมกับยอดการฝากเงิน 1000 หน่วย Balance ที่มีในตอนนี้จึงเท่ากัย 1194.10 หน่วย หากคิดเป็น % ของการเติบโตของพอร์ตจะเท่ากับ +19.41% 

การแสดงผลที่เป็น Loss ของพอร์ตลงทุน

อธิบายจากภาพ : จะเห็นว่าจำนวนเงินที่ติดลบหรือ Loss รวมของพอร์ตลงทุนนั้น -209.23 หน่วย ซึ่งได้ฝากเงินเข้าไปมีค่า Deposit จำนวน 1000 หน่วย เมื่อขาดทุนจำนวนเงิน Balance ที่มีในตอนนี้จึงเท่ากับ 790.77 หน่วย หากคิดเป็น % นั้นจะเท่ากับ พอร์ตลงทุนติดลบไปแล้ว -20.92% 

    Leverage  หรืออัตราการให้ยืมเงินลงทุนที่ทางแต่ละโบรกเกอร์กำหนด โดยที่เลเวอร์เรจนั้นเป็นค่าอัตราการซื้อขายในจำนวนที่มากขึ้น หรือก็คือการที่โบรกเกอร์ให้ยืมเงินลงทุนในขนาดที่สูงกว่าทุนจริงๆของเทรดเดอร์ โดยจะกำหนดอัตราค่า Leverage ขึ้นมาเพื่อให้นักเทรดนั้นสามารถเลือก Leverage ตามเงื่อนไขของทางแต่ละโบรกเกอร์กำหนดให้ได้โดยอธิบายหลักการได้ง่ายๆ ดังต่อไปนี้
ตัวอย่าง : สมมุติว่าเรามีเงินลงทุน 1,000$ เราต้องการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ 1000 หุ้น โดยที่ด้วยราคาหุ้นนั้นมีมูลค่าอยู่ที่หุ้นละ 10$ ในทางด้านความเป็นจริงแล้วเราสามารถถือหุ้นได้เพียง 100 หุ้นเท่านั้นเอง แต่เมื่อทางโบรกเกอร์มีข้อกำหนดให้เราสามารถเลือกใช้ Leverage ได้เป็น 1 : 20 ความหมายก็คือเราก็จะมีเงินเพิ่มอีก  20 เท่า หรือมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกจากเดิมที่มีอยู่ 1,000$ ก็จะเปรียบเสมือนเรามีเงินลงทุนถึง 20,000$ จากค่า Leverage จึงทำให้ตอนแรกเราต้องการซื้อ 100 หุ้นแต่ทางโบรกเกอร์ให้ Leverage เรา 1 : 20 เราจึงสามารถซื้อหุ้นได้สูงสุด 2,000 หุ้น 
    โบรกเกอร์ใจดีจัง !?? ให้ยืมเงินลงทุนด้วย แล้วก็เกิดคำถามขึ้นมาในใจ “โบรกเกอร์ได้อะไรจากการให้ Leverage ในการลงทุนของเรา ของฟรีมีในโลกการลงทุนจริงหรือ ??” คำตอบที่ได้อาจจะฟังดูโหดร้ายอยู่นิดนึง ซึ่งทางโบรกเกอร์นั้นให้เราทำการซื้อขายลงทุนได้มากกว่าเดิมตามค่า Leverage ก็จริง แต่ในทางกลับกันโบรกเกอร์ก็หยิบยื่นความเสี่ยงมาพร้อมกับการลงทุนกับค่า Leverage ด้วย โบรกเกอร์จึงต้องมีการกำหนดวงเงินค่ามัดจำหรือที่เรียกกันว่า Margin เพื่อเป็นหลักประกันในการลงทุนของเรา แล้วคำว่า Margin ?? มันคืออะไรกันแน่อธิบายได้ดังต่อไปนี้ 

    Margin  หรือวงเงินที่เราสามารถนำไปเปิดออเดอร์ซื้อขายเปรียบเสมือนกับค่ามัดจำที่เราต้องใช้ในการเปิดออเดอร์ในแต่ละครั้ง และก็จะเพิ่มกลับเข้าไปใน บัญชีเหมือนเดิม เมื่อทำการปิดออเดอร์ หากยิ่งใส่จำนวน Lot เข้าไปในการ เปิดออเดอร์มากเท่าไร จำนวน Margin ที่ใช้ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นมากขึ้นเท่านั้น


ความสำคัญของ Margin
    แต่ละโบรกเกอร์จะมีเงื่อนไขอยู่ว่า ถ้า Margin Level เหลือน้อยกว่าค่าใดแล้วออเดอร์ที่มีทำการซื้อขายอยู่จะถูกปิดอัตโนมัติ โดยออเดอร์จะมีโอกาส ถูกปิดอัตโนมัติก็ต่อเมื่อ
- การเปิดออร์เดอร์ ซื้อ – ขาย โดยการใส่จำนวน Lot ที่มากเกินไป
- การขาดทุนจนทำให้ในค่า Equity หรือค่าของ Balance คงเหลือน้อยเกินไป หรือกรณีที่ติดลบมากจนเท่ากับยอด Balance ที่เรามี ดังนั้นหากเป็นเช่นนี้แล้วทางโบรกเกอร์ก็จะทำการสั่งตัดยอด Balance ของเราทั้งหมด แล้วส่งเข้าสู่ ตลาดจนเกิดคำที่เรียกว่าล้างพอร์ตหรือ Margin call
    เพราะฉะนั้นทางโบรกเกอร์ก็จะมีค่าที่พอร์ตของเรานั้นสามารถรองรับการลงทุนได้อีกปริมาณเท่าไร ขนาดไหน ซึ่งนั่นก็คือ Free Margin 

    Free Margin  หรือ เงินทุนสำรองที่เหลือจาก Margin จะเรียกว่าความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มเติมก็ได้เช่นกัน ซึ่ง Free Margin ถือเป็น 1 ในส่วนสำคัญต่อการควบคุมความเสี่ยงของเทรดเดอร์ได้ด้วย หาก Free Margin ติดลบแล้วนั้นแสดงว่าความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มเติมไม่มีแล้ว หรือไม่สามารถเข้าทำการซื้อขายเพิ่มได้ 
สถานะของพอร์ตของเราอยู่ในความเสี่ยงหรือใกล้ที่จะเรียกว่าล้างพอร์ตได้ตอนไหน ซึ่งก็จะดูจากว่า Free Margin ของเรามีค่าเป็นลบนั่นเอง แต่ก็จะมีส่วนที่แสดงที่ชัดเจนมากกว่านี้อีกนั่นก็คือ Margin Level 

    Margin Level  เป็นค่า เปอร์เซ็นที่บ่งบอกถึงสถานะของพอร์ตว่าอยู่ในความปลอดภัยหรือไม่ โดยไอ้คำว่า Margin Call หรือล้างพอร์ตจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพอร์ตลงทุนของเรามีค่า Margin Level ต่ำกว่าที่ทางโบรกเกอร์กำหนด (โดยส่วนใหญ่จะกำหนดที่ 30% - 50% To Margin Call) ยิ่งพอร์ตลงทุนของเราติดลบมากเท่าไร Margin Level ก็จะลดลงมากด้วยเท่านั้น ส่วนใหญ่ Margin Level มีค่าแสดงผลออกมาน้อยมากๆ นั้นเป็นเพราะการ Over Trade หรือการเลือกใช้ปริมาณการลงทุนที่ไม่เหมาะสมกับพอร์ตเงินลงทุน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากคำว่า Leverage ที่มีข้อดีคือสามารถลงทุนได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ข้อเสียก็คือ Margin Level ก็ลดลงเร็วเช่นกัน

การแสดงผลของ Margin, Free Margin และ Margin Level
    ในการแสดงผลดังกล่าวนั้นรายละเอียดจะต้องมีรายการเทรดตั้งแต่ 1 รายการขึ้นไป Margin, และ Margin Level ถึงจะแสดงผล ถ้าพอร์ตของเราไม่มีรายการดังกล่าวก็จะมีแค่ Balance, Equity และ Free Margin เท่านั้น ซึ่งจะยกภาพตัวอย่างภาพดังต่อไปนี้ 

อธิบายจากภาพ : จะเห็นว่าค่า Margin ที่เราใช้ไปนั้นคือ 508.71 หน่วย ที่ใช้เป็นค่ามัดจำสำหรับรายการเทรดนั้นๆ และ Free Margin หรือเงินที่สามารถใช้งานได้ที่เหลือจะมีอยู่ 513.29 หน่วย และ Margin Level เหลือแค่เพียง 200.90% เท่านั้น 

    Margin Call  ในส่วนของ Margin Call ซึ่งก็คือพอร์ตอยู่ในความเสี่ยง มักจะปรากฏเมื่อ Profit มีการติดลบเกิดขึ้นและ Margin Level เหลือน้อยกว่า 100% (บางโบรกเกอร์กำหนดให้ต่ำกว่า 60% ถึงจะเกิด Margin Call) ซึ่งจำนวน Free Margin ของเรานั้นไม่พอที่จะใช้ในการก่อหนี้เพิ่ม แถมยังเกิดการติดลบอีกด้วย พอร์ตลงทุนจึงอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยง โดยมีภาพตัวอย่างดังต่อไปนี้

อธิบายจากภาพ : จะเห็นว่ามีแถบสีแดงขึ้นมา เนื่องจาก Margin Level มีค่าตำกว่า 80% (โบรกเกอร์ Paperstone กำหนด) ซึ่งพอร์ตลงทุนนั้นอยู่ในความเสี่ยง การแจ้งเตือนของ Margin Call จึงเกิดขึ้น ซึ่งความเสี่ยงโดยทั่วไปนั้นจะเริ่มจาก Free Margin เริ่มเหลือน้อยลง และเมื่อเข้าสู่การติดลบเมื่อไร สถานะพอร์ตในช่วงเวลานั้นจัดได้ว่าเริ่มจะไม่ปลอดภัย ควรวางแผนรับมือโดยการปิดออเดอร์ทิ้งไป เพื่อให้เหลือเงินลงทุนและบริหารพอร์ตลงทุนใหม่ หรือตั้งจุดขาดทุนที่เหมาะสมกับการวิเคราะห์ต่อไป 

    Order  คือรายการของสัญญาการซื้อขาย ซึ่งเราจะเปิดรายการการซื้อขายก็ต่อเมื่อมีความต้องการทำกำไรจากตลาดฟอเร็กซ์ เราจะเรียกการทำการซื้อขายนี้ว่า การเข้าออเดอร์ โดยการเข้าออเดอร์ในแต่ละครั้งจะมี Number หรือ ตัวเลขที่เป็นชื่อเฉพาะของออเดอร์นั้นๆ สามารถดูได้จากรายการของสัญญาการซื้อขายตามพอร์ตลงทุนที่อยู่ในเมนู Terminal ที่หมวด Trade ของโปรแกรม MT4 
Order จะมีส่วนประกอบที่สำคัญๆ วิธีการและส่วนอื่นๆที่เกี่ยวกับรายละเอียดของออเดอร์อยู่มากมาย ซึ่งจะถูกกล่าวในเรื่องต่อไป ตอนนี้มาดูตัวอย่างของออเดอร์จากพอร์ตลงทุนกัน มีตัวอย่างดังต่อไปนี้

อธิบายจากภาพ : จะเห็นว่ามี 3 ส่วนที่สำคัญๆ ของรายการเทรดโดยจะอธิบายได้ดังนี้
    วงกลมหมายเลข 1 เป็น Number หรือชื่อของ Order  2 ตัว ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ก่อนตัวเลขเป็นสีแดงและสีฟ้า โดยสัญลักษณ์สีแดงนั้นหมายถึงการเข้าออเดอร์ฝั่ง Short หรือเข้า Sell ส่วนสีฟ้านั้นเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าออเดอร์ฝั่ง Long หรือเข้า Buy ในการทำกำไร และตามด้วยชื่อ Number ของออเดอร์นั้นๆ 
    วงกลมหมายเลข 2 เป็นรายละเอียดที่สำคัญๆ ของออเดอร์ ซึ่งจะมีส่วนประกอบอยู่ 3 ประเภทคือ 
-    Type คือ การเข้าออเดอร์ฝั่ง Buy หรือ Sell 
-    Size คือ ปริมาณการซื้อขายในตลาดฟอเร็กซ์ มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก คือ Lot หรือ Volume Trade 
-    Symbol คือ สกุลเงินที่เข้าทำกำไร โดยในภาพจะเป็นคู่เงิน GBPUSD ซึ่งหมายถึงค่าเงินปอนด์เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ กับคู่เงิน EURUSD ซึ่งหมายถึงคู่เงินยูโรเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
    วงกลมหมายเลข 3 เป็นการแสดงผลของ Profit ซึ่งในภาพตัวอย่างนั้นจะเห็นว่า Profit ทั้ง 2 ออเดอร์เป็นลบอยู่ ซึ่งเป็นการแสดงผลของหน่วยวัดการเคลื่อนที่ของราคาคู่เงินนั้นๆ เทียบจากจุดเข้าซื้อและราคาปัจจุบัน เราเรียกการแสดงผลนี้ว่า Pip หรือ Point นั่นเอง 

    ยังมีส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องของออเดอร์อยู่อีกมากมาย ที่เป็นความรู้พื้นฐานในตลาดฟอเร็กซ์ ซึ่งบทต่อไปจะพูดถึงรายละเอียดและส่วนประกอบของ Order แบบเจาะลึกลงไปอีก รวมถึงการใช้งานโปรแกรม MT4 เบื้องต้นเกี่ยวกับวิธีการเปิด – ปิดออเดอร์ ซึ่งจะถูกอธิบายในเรื่องต่อไป